วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

แม่นาคพระโขนง

แม่นาคพระโขนง

แม่นาคพระโขนง เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีตายทั้งกลมที่เป็นที่รู้จักกันดีเรื่องหนึ่งของไทยเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมี ศาลแม่นาค ตั้งอยู่ที่ วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

เรื่องเล่า
มีผัวหนุ่มเมียสาวคู่หนึ่ง อาศัยอยู่กินด้วยกันที่ย่านพระโขนง ฝ่ายสามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาค ทั้งสองอยู่กินกันจนนางนาคตั้งครรภ์อ่อน ๆ นายมากก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องไปเป็นทหารประจำการที่บางกอกตามหมายเรียก นางนาคจึงต้องอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง

ยิ่งนานวัน ท้องของนางนาคก็ยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ จนครบกำหนดคลอด หมอตำแยก็มาทำคลอดให้ ทว่าลูกของนางนาคไม่ยอมกลับหัว และคลอดออกมาตามธรรมชาติ ยังผลให้นางนาคเจ็บปวดเป็นยิ่งนัก และในที่สุดนางนาคก็ทานความเจ็บปวดไว้ไม่ไหว สิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม

หลังจากนั้น ศพของนางนาคได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็กลับจากบางกอกมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบความว่าเมียของตัวได้หาชีวิตไม่แล้ว นายมากกลับมาถึงในเวลาเข้าไต้เข้าไฟพอดี จึงไม่ได้พบชาวบ้านเลย เนื่องจากบริเวณบ้านของนางนาค หลังจากที่นางนาคตายไปก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้เพราะกลัวผีนางนาคซึ่งต่างก็เชื่อกันว่าวิญญาณของผีตายทั้งกลมนั้นเฮี้ยน และมีความดุร้ายเป็นยิ่งนัก

ครั้นเมื่อนายมากกลับมาอยู่ที่บ้าน นางนาคก็คอยพยายามรั้งนายมากให้อยู่ที่บ้านตลอดเวลา ไม่ให้ออกไปพบใคร เพราะเกรงว่านายมากจะรู้ความจริงจากชาวบ้าน นายมากก็เชื่อเมีย เพราะรักเมีย ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมากจะบอกนายมากอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว จนวันหนึ่งขณะที่นางนาคตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนาคทำสากตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือนเพื่อเก็บสากที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน

นายมากวางแผนหลบหนีผีนางนาค โดยการแอบเจาะตุ่มใส่น้ำให้รั่วแล้วเอาดินอุดไว้ ตกกลางคืนทำทีเป็นไปปลดทุกข์เบา แล้วแกะดินที่อุดตุ่มไว้ให้น้ำไหลออกเหมือนคนปลดทุกข์เบา จากนั้นจึงแอบหนีไป นางนาคเมื่อเห็นผิดสังเกตจึงออกมาดู ทำให้รู้ว่าตัวเองโดนหลอก จึงตามนายมากไปทันที นายมากเมื่อเห็นผีนางนาคตามมาจึงหนีเข้าไปหลบอยู่ในดงหนาด นางนาคไม่สามารถทำอะไรได้เพราะผีกลัวใบหนาด นายมากหนีไปพึ่งพระที่วัด นางนาคไม่ลดละพยายาม ด้วยความที่เจ็บใจชาวบ้านที่คอยยุแยงตะแคงรั่วผัวตัวเองอีกประการหนึ่ง ทำให้นางนาคออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวกันไปทั้งบาง ซึ่งความเฮี้ยนของนางนาค ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ถูกฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนคู่นั่นเอง ในที่สุด นางนาคก็ถูกหมอผีฝีมือดีจับใส่หม้อถ่วงน้ำ จึงสงบไปได้พักใหญ่

จนกระทั่งตายายคู่หนึ่งที่ไม่รู้เรื่องเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ เก็บหม้อที่ถ่วงนางนาคได้ขณะทอดแหจับปลา นางนาคจึงถูกปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สยบลงได้ กะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากของนางนาคถูกเคาะออกมาทำปั้นเหน่ง (หัวเข็มขัดโบราณ) เพื่อเป็นการสะกดวิญญาณ และนำนางนาคสู่สุคติ หลังจากนั้น ปั้นเหน่งชิ้นนั้นก็ตกทอดไปยังเจ้าของอื่นๆ อีกหลายมือ ตำนานรักของนางนาค นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้ฟังอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้

เรื่องในประวัติศาสตร์
เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องแม่นาคพระโขนงนี้ พบว่า น่าจะเป็นมาจากเรื่องจริงของลูกสาวคณบดีผู้หนึ่งที่ตายลงขณะยังตั้งท้อง และครอบครัวทางฝ่ายหญิงก็เกรงว่าจะมีคนมาขุดสมบัติของครอบครัวตน จึงให้เด็ก ๆ ในบ้านแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืนบ้าง หรือทำวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของลูกสาวตนเฮี้ยน แต่ไม่พบหลักฐานว่าหญิงสาวผู้นี้ชื่อ นาค หรือไม่ และสามีของเธอจะชื่อ มาก หรือไม่

แม่นาคในความเชื่อทางสังคม
เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ปรากฏอยู่ทั่วไปตามความเชื่อของคนไทยร่วมสมัยและตราบจนปัจจุบัน เช่น เชื่อว่าชื่อสี่แยกมหานาค ที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นาคอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย หรือ เชื่อว่าพระรูปที่มาปราบแม่นาคได้นั้นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่อว่า ท่านได้เจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นาคทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาค และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก หรือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อสมัยเด็ก ๆ ท่านเคยเห็นสิ่งที่เชื่อว่าเป็นรอยเท้าแม่นาคบนขื่อเพดานวัดมหาบุศย์ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

ถึงอย่างไร ความเชื่อเรื่องแม่นาคพระโขนง ก็ยังปรากฏอยู่ในความเชื่อของคนไทย ณ วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง ปัจจุบันนี้ มีศาลแม่นาคตั้งอยู่ ซึ่งเป็นที่สักการะ เคารพบูชาอย่างมากของบุคคลในและนอกพื้นที่ โดยบุคคลเหล่านี้จะเรียกแม่นาคด้วยความเคารพว่า "ย่านาค" บ้างก็เชื่อกันว่าแม่นาคได้ไปเกิดใหม่แล้ว

การแสดงและบทประพันธ์
เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ได้กลายมาเป็นบทประพันธ์ในรูปแบบการแสดงเป็นครั้งแรก เป็นบทละครร้อง ในปี พ.ศ. 2454 ในชื่อ "อีนากพระโขนง" โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แสดงที่โรงละครปรีดาลัย (โรงเรียนตะละภัฏศึกษา) ได้รับความนิยมอย่างมากจนต้องเปิดการแสดงติดต่อกันถึง 24 คืน

ในทางบันเทิง เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ได้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ในรอบหลายปี อีกทั้งยังสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ตลกล้อเลียนก็เคยมาแล้ว โดยล่าสุดเป็นละครเวทีโอเปร่าอำนวยการแสดงโดย สมเถา สุจริตกุล ในปี พ.ศ. 2545

แม่นาคพระโขนงในสื่อต่าง ๆ
ภาพยนตร์
- ลูกนางนาค/ลูกนางนาคพระโขนง - พ.ศ. 2493 (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
- นางนาคพระโขนง - พ.ศ. 2495 (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
- นางนาคพระโขนง - พ.ศ. 2498 (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
-แม่นาคพระโขนง - พ.ศ. 2502 นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์, ปรียา รุ่งเรือง
- แม่นาคคืนชีพ - พ.ศ. 2503 นำแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์, วิไลวรรณ วัฒนพาณิช
- วิญญาณรักแม่นาคพระโขนง - พ.ศ. 2505 นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์, ปรียา รุ่งเรือง
- แม่นาคคนองรัก - พ.ศ. 2511 นำแสดงโดย ปรียา รุ่งเรือง, ชุมพร เทพพิทักษ์, ฤทธิ์ ลือชา
- แม่นาคพระนคร- พ.ศ. 2513 นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา, อรัญญา นามวงศ์
-แม่นาคพระโขนง - พ.ศ. 2516 นำแสดงโดย ยอดชาย เมฆสุวรรณ, สุภัค ลิขิตกุล
- แม่นาคอาละวาด - พ.ศ. 2516 นำแสดงโดย ยอดชาย เมฆสุวรรณ, สุภัค ลิขิตกุล
- แม่นาคอเมริกา - พ.ศ. 2518 นำแสดงโดย กรุง ศรีวิไล, เปียทิพย์ คุ้มวงศ์
- แม่นาคบุกโตเกียว - พ.ศ. 2519 นำแสดงโดย อุเทน บุญยงค์, ภาวนา ชนะจิต, อรสา พรหมประทาน
- แม่นาคพระโขนง - พ.ศ. 2521 นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ปรียา รุ่งเรือง, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์
- นางนาค ภาคพิศดาร - พ.ศ. 2528 นำแสดงโดย โน้ต เชิญยิ้ม, สีดา พัวพิมล
- แม่นาค 30 - พ.ศ. 2530 นำแสดงโดย โน้ต เชิญยิ้ม, สีดา สุทธิรักษ์, ยอด นครนายก, ท้วม ทรนง, เด๋อ ดอกสะเดา, เหี่ยวฟ้า
- แม่นาคคืนชีพ - พ.ศ. 2533 นำแสดงโดย ลิขิต เอกมงคล, ชุดาภา จันทร์เขตต์
- แม่นาคเจอผีปอบ- พ.ศ. 2535 นำแสดงโดย ตรีรัก รักการดี, ณัฐนี สิทธิสมาน
- แม่นาคพระโขนง - พ.ศ. 2537 นำแสดงโดย ดาริน กรสกุล, รอน บรรจงสร้าง
- นางนาก - พ.ศ. 2542 นำแสดงโดย ทราย เจริญปุระ, วินัย ไกรบุตร
- นาค รักแท้ / วิญญาณ / ความตาย - พ.ศ. 2548 นำแสดงโดย ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์, ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์
- นาค - พ.ศ. 2551 (ภาพยนตร์แอนิเมชัน) ให้เสียงโดย ศศิกานต์ อภิชาตวรศิลป์, ธงชัย ประสงค์สันติ, นุ้ย เชิญยิ้ม

ละครโทรทัศน์
- แม่นาคพระโขนง พ.ศ. 2521 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย ปริศนา วงศ์ศิริ, ชานนท์ มณีฉาย
- แม่นาคพระโขนง พ.ศ. 2532 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย ตรีรัก รักการดี, เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์
- แม่นาคพระโขนง พ.ศ. 2537 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย ลีลาวดี วัชโรบล,วรุฒ วรธรรม
- แม่นาคพระโขนง พ.ศ. 2543 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย กุลณัฐ ปรียะวัฒน์, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
- แม่นาก พ.ศ. 2543 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย พัชราภา ไชยเชื้อ, พีท ทองเจือ

ละครเวที
- อีนากพระโขนง ละครร้องของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จัดแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2455 ที่โรงละครปรีดาลัย
- แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล จัดแสดงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม -26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ นำแสดงโดย นัท มีเรีย, อาณัตพล ศิริชุมแสง
- นางนาก เดอะมิวเซียม จัดแสดงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ที่มะขามป้อม สตูดิโอ
- แม่นาค เดอะมิวสิคัล จัดแสดงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่ เอ็มเธียเตอร์ นำแสดงโดย ธีรนัยน์ ณ หนองคาย, วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์


ที่มา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม