วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

เทพารักษ์

เทพารักษ์ เป็นเทพระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเทพที่อยู่ในสวรรค์ชั้น กามาพจรภพ

เทพารักษ์ จะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เรียกว่า รุกขเทวดา ส่วนเทพารักษ์ที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนจะเรียกว่า เจ้าที่เจ้าทาง

เทพารักษ์นั้น มาจากคำว่า ‘เทพ + อารักษ์’ แปลว่า เทพหรือเทวดาผู้รักษา ซึ่งเชื่อกันว่าเทพารักษ์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ในต้นไม้ใหญ่ๆ ก็มีเทพารักษ์ช่วยดูแลรักษา แต่สำหรับเทพารักษ์องค์สำคัญที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประจำพระนคร มีหน้าที่ดูแลปกปักรักษาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัย มีอยู่ด้วยกัน ๕ องค์ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าหอกลอง และเจ้าเจตคุปต์ ซึ่งปัจจุบันประดิษฐาน อยู่ ณ ‘หอเทพารักษ์’ เป็นอาคารจตุรมุขยอดปรางค์ อยู่ภายในศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

ตามประวัติกล่าวว่า หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ทรงสถาปนาหลักเมืองกรุงเทพมหานครขึ้นมาเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ แล้ว ได้โปรดให้สร้างศาลประดิษฐานรูปเทพารักษ์สำคัญสำหรับพระนครขึ้น ๓ ศาล คือ ศาลพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง และศาลพระกาฬไชยศรี ตรงบริเวณระหว่างหน้าวัดพระเชุพนฯกับคลองคูเมืองเดิม (ปัจจุบันคือที่ตั้งของกรมการรักษาดินแดน) ซึ่งในบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเจตคุปต์หรือเจตคุก ซึ่งอยู่ที่หน้าคุกของกรมพระนครบาล และศาลเจ้าหอกลองอยู่ที่หน้าหอกลอง ประจำเมือง

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีการสร้างสถานที่ราชการและตัดถนนเพิ่ม จึงต้องรื้อศาลเทพารักษ์ ทั้ง ๕ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานรวมกันในศาลหลักเมือง ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ได้โปรดให้บูรณะศาลหลักเมือง รวมทั้งสิ่งต่างๆ อันเนื่องในศาลหลักเมืองด้วย ดังนั้น กรมศิลปากร จึงได้ดำเนินการซ่อมบูรณะรูปเทพารักษ์ที่ชำรุดอยู่บางส่วนให้บริบูรณ์

๑. พระเสื้อเมือง

เป็นรูปหล่อด้วยสำริดปิดทอง สูงประมาณ ๙๓ ซม. ประทับยืนบนฐานสิงห์ พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลาเชิงงอน นุ่งภูษา ทับด้วยชายไหวชายแครง ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ (แผ่นทองคำฉลุลายเป็นกิ่งต้นเครือวัลย์กระหนก สำหรับเสียบห้อยที่ชายพกลงมาในระหว่างช่องหน้าขาทั้งสอง) คาดปั้นเหน่งรัดพัสตร์ สวมกรองศอ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาลตาบทิศ ทับทรวงสวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงคทาวุธ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นเสมอพระนลาฏทรงจักราวุธ พระเสื้อเมืองเป็นเทพารักษ์คุ้มครอง ป้องกันภัยทั้งทางบกและทางน้ำ คุมไพร่พลรักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็น สุขปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน



๒. พระทรงเมือง

เป็นรูปเทพารักษ์หล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๘๘ ซม. ประทับยืนบนฐานปัทม์ ฉลองพระองค์ทรงเครื่องเช่นเดียวกับพระเสื้อเมือง พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นเสมอ พระนลาฏทรงสังข์ พระทรงเมืองเป็นเทพารักษ์มีหน้าที่ปกป้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั้งแผ่นดิน และดูแลความผาสุกของประเทศ โดยมีปู่เจ้าเขาเขียว และปู่เจ้าสมิงพรายเป็นบริวาร



๓. พระกาฬไชยศรี

เป็นรูปเทพารักษ์สี่กรหล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๘๖ ซม. ประทับบนหลังนกแสก ซึ่งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยมปิดทอง ฉลองพระองค์ทรงเครื่องเช่นเดียวกับพระเสื้อเมือง พระหัตถ์ซ้ายบนยกชูเสมอพระอังสา ทรงเชือกบาตสำหรับคล้องมัดปราณของมนุษย์ผู้ถึงฆาต พระหัตถ์ซ้ายล่างยกเสมอ พระนาภีแสดงกิริยาตักเตือนสั่งสอน มิให้กระทำความชั่วร้าย พระหัตถ์ขวาบนยกชูเสมอพระอังสา ทรงชวาลา คือดวงวิญญาณเปรียบดังธาตุไฟในร่างกายคนเรา ซึ่งหากแตกดับลงเมื่อใดก็เท่ากับสิ้นชีวิต ดวงวิญญาณออกจากร่างแล้วนั่นเอง พระหัตถ์ขวาล่างท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระกาฬไชยศรี เป็นเทพารักษ์ที่เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่ป้องกันมิให้ผู้ใดทำความชั่ว รวมทั้งสอดส่องดูแลบุคคลอันธพาลในยามค่ำคืน ด้วยการขี่นกแสกออกตรวจตรา และเมื่อบุคคลใดถึงฆาตก็นำตัวไปให้พระยมชำระความ ถ้าทำความดีก็ส่งขึ้นสวรรค์ ทำความชั่วก็ส่งลงนรก



๔. เจ้าหอกลอง

เป็นรูปเทพารักษ์ทรงมงกุฏหล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๑๐๕ ซม. ประทับยืนบนแท่นแปดเหลี่ยม พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลามีเชิง นุ่งภูษาทับด้วยห้อยหน้า ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ทั้งสองยกเสมอระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาทรงดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายทรงเขาสัตว์ สำหรับใช้เป่าเป็นสัญญาณเรียกประชุมไพร่พลให้มาเข้าประจำหน้าที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติกันในสมัยโบราณ เจ้าหอกลองเป็นเทพารักษ์ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน แล้วรายงานเหตุร้ายที่เกิดขึ้นให้พระเสื้อเมืองซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเป็นไปต่างๆ ในเมืองให้รับทราบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น



๕. เจ้าเจตคุปต์

เป็นรูปเทพารักษ์ที่จำหลักด้วยเครื่องไม้ปิดทองทั้งองค์ สูง ๑๓๓ ซม. ประทับยืนบนแท่น พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลามีเชิง นุ่งภูษาทับด้วยห้อยหน้า ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ทั้งสองยกเสมอระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลานอัครสันธานา สำหรับจดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป เจ้าเจตคุปต์เป็นเทพารักษ์ที่เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดบันทึกความชั่วร้ายของมนุษย์ที่ตายไปแล้วนำเสนอต่อพระยม

ที่มา
http://writer.dek-d.com/dek-d/story/viewlongc.php?id=516560&chapter=92

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม