วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

ผีหรือเทพในดนตรีไทยมาจากไหน

ผีหรือเทพในดนตรีไทยมาจากไหน โดยสงัด ภูเขาทอง

อันว่า "เทพ" หรือ "เทพเจ้า" ที่เราเรียกเราใช้กันทั่วไปนั้น แท้จริงหากจะเรียกตามภาษาชาวบ้านมันก็คือ "ผี" ชนิดหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่เราจัดให้เป็นผีชั้นดีชนิดหนึ่งต่างไปจากผีชั้นเลว เช่น พวกเปรตพวกอสุรกาย มีหน้าที่เข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายหรือจิตของคนซึ่งอาจให้คุณให้โทษแก่คนผู้นั้นตามวาระและโอกาสอันควร เฉพาะอย่างยิ่ง คนตะวันออกอย่างคนไทย มักจะยุ่งอยู่กับผีแทบทุกเรื่อง ทุกอาชีพของชีวิต เพียงแต่เรียกให้ไพเราะว่า "ความเชื่อ" ซึ่งที่จริง ก็หมายถึง ผีเข้าไปอยู่หรือผีเข้าไปสิงอยู่ในใจของผู้นั้นเข้าให้แล้ว ผีมีอยู่หลายประเภท ผีชั้นสูงเราเรียกว่า เทพ ผีชั้นต่ำเราเรียกว่า นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง แต่ละประเภทก็มีอยู่หลายระดับมากมายก่ายกอง สุดแต่จะวาดภาพในจินตนาการจะให้มันเป็นอะไร มีลักษณะฐานันดรอย่างไร เช่น เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ เป็นอมนุษย์ หรือเป็นคน พร้อมกำหนดที่อยู่ของบรรดาผีเหล่านั้นให้เสร็จสรรพ เช่น ในต้นไม้ ทะเล ภูเขา บ้านเรือน แม้กระทั่งบนอากาศ ใต้ดิน บนดินหรือไม่ให้มีที่อยู่เลย เช่น พวกสัมพเวสี คือ พวกเร่ร่อน ก็มี พวกนี้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เช่นพวกเปรต เป็นต้น หากจะตั้งคำถามว่า ยึดเอาพวกผีพวกเทพมาเป็นสรณะทำไมเล่า คำตอบก็คือ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขความเจริญของชีวิต แต่ที่แท้คือ ความไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่นในตนเองต่างหาก หรืออาจถูกหลอกให้ทำ ตามจุดประสงค์ที่มีผู้กำหนดเอาไว้แล้ว จึงต้องใช้สิ่งอื่นมาเป็นเครื่องช่วยทำให้เกิด ความเกรงกลัว งานจึงจะสำเร็จตามที่ตนต้องการ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ยึดเอาศาสนามาเป็นที่พึ่ง ก็เพราะความไม่มั่นใจไม่เชื่อใจตนเอง

ในทางดนตรีไทย ผีหรือเทพ ย่อมเข้าไปแฝงอยู่ทั้งในสิ่งที่มีตัวตน เช่น เครื่องดนตรีหรือบทเพลงและยังแฝงอยู่ในจินตนาการ โดยกำหนดความสำคัญ สูงต่ำมากน้อยลง ไปในสิ่งนั้นๆ เช่น เวลาวางตำแหน่งเครื่องดนตรี ทำไมจึงให้ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพนหรือปี่ วางอยู่ทางด้านขวาของผู้บรรเลง ส่วนระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก กลองทัดอยู่ทางด้านซ้ายมันเกี่ยวกับเสียงด้วยหรือ ก็บอกได้ว่า เปล่าเลย เป็นเรื่องของความสำคัญต่างหากที่เราสมมุติขึ้นมาเอง บทเพลง บางประเภท เช่น เพลงหน้าพาทย์ ทำไมจึงได้เกิดฐานันดรขึ้นมา ก็ขึ้นอยู่กับเทพหรือผีนั่นเอง หรือทำไมตะโพนเมื่อเข้าอยู่ในพิธีกรรมจึงต้องมีผ้าขาวพันรอบตัวตะโพน ดังที่เรียกกันว่า "นุ่งผ้า" ก็คงเนื่องมาแต่ "ผี" อีกนั่นแหละ อันที่จริงการเอาตะโพนมานุ่งผ้า คงมิได้มาทางสายของดนตรี แต่ก็ได้เอาแบบอย่างทางสายศิลปะการแสดงหรือนาฏศิลป์ ในทางดนตรี ตะโพน มิได้สำคัญอะไรนอกเหนือไปจากเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่สามารถบรรเลงได้เป็นเพลงชนิดหนึ่งในจำพวกจังหวะ หน้าทับหรือทำให้เกิด เป็นจังหวะได้เท่านั้น แต่ทางฝ่ายศิลปะการแสดง มีความหมายสำคัญยิ่งไปกว่านี้ คือยังทำหน้าที่เป็น "ครู" ชนิดหนึ่งที่สอนคนได้ โดยผู้เรียนเอาเสียงที่ได้จากตะโพนมาสร้างเป็นท่ารำได้ ความสำคัญของศิลปะการแสดงทางนาฏศิลป์อยู่ที่ท่ารำ โดยอาศัยจังหวะเป็นสำคัญ อะไรก็ได้ที่ทำแล้วบอกให้รู้ว่าเป็นจังหวะ เขาก็สามารถสร้างท่ารำได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเสียงเพลง ตะโพน หรือโทน หรือทับ นอกจากจะทำเป็นจังหวะได้แล้ว ยังทำเสียงได้หลายเสียง คล้ายเป็นเพลงชนิดหนึ่งได้อีกด้วยก็ยิ่งเพิ่มความสำคัญให้แก่คนนาฏศิลป์ยิ่งขึ้นไปอีก จึงทำให้ตะโพนหรือโทนหรือทับถูกยกย่องให้อยู่ในฐานะชั้น "ครู" เอาทีเดียว มิหนำซ้ำ แม้จะไม่มีตะโพน แต่ใช้เปล่งเสียงด้วยปากเปล่า เขาก็สามารถรำได้ "ครู" ที่แฝงอยู่ในตะโพนนี้ก็จัดให้เป็น "ผี" ชนิดหนึ่ง เป็นครูที่ไม่มีตัวตน อย่างที่สอนกันตามห้องเรียน แต่เป็นครูแห่งจินตนาการที่เกิดความรู้สึกว่าให้ประโยชน์และคุณค่าต่อการศึกษาโดยปริยายอย่างหนึ่ง การที่เราเอาตะโพนมายกย่องถึงขั้นกราบไหว้กัน ปัจจุบันก็มิได้เสียหายอะไร เท่ากับว่าได้รำลึกถึงคุณประโยชน์ที่ได้ประโยชน์จากตะโพน

อันว่าผีหรือเทพที่อยู่ในความเชื่อของมนุษย์ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับดนตรีหรือไม่ก็ตาม มีอยู่หลายชนิด เช่น
๑. พวกที่เดิมเป็นมนุษย์ที่แท้ แต่ได้กลายสภาพเป็นผู้อยู่ในฐานะ "บรรพบุรุษ" ที่ยังคงระลึกถึงอยู่
๒. มนุษย์ที่ได้ล่วงลับไปแล้วแต่ได้รับการยกย่องให้อยู่ในฐานะ "เทพ"
๓. พวกที่หลุดพ้นจากความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง กลายเป็น เทพ ที่สมบูรณ์แล้วไปทำหน้าที่ต่างๆ บนสวรรค์ เช่น พระอิศวร ที่ถือว่าเป็นนายใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดินแห่งสวรรค์พระประโคนธรรพ ผู้ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่ชาวสวรรค์ จะเรียกว่า เป็นศิลปินก็ย่อมได้ หากมีตำแหน่งก็คือ อธิบดีกรมศิลปากร พระพิฆเณศร์ ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ พระนารายณ์ ก็คือ อธิบดีกรมตำรวจนั่นเอง
๔.พวกเทพที่แฝงอยู่ในสิ่งที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น
๕.พวกยักษ์ เท่าที่กล่าวไว้ในดนตรีมีเพียงตนเดียว ดังที่เรียกกันทั่วไปว่า "พระพิราพ" แต่เวลาอ่านโองการจะออกเสียงว่า "พิราธัง" คือ "พิราธ" นั่นเอง เรื่องของยักษ์พิราพ หรือพระพิราพหรือพิราธังนี้ ยังมิได้ค้นหาถึงรายละเอียด เพียงแต่รู้ว่า ถ้าชื่อว่า "พิราพ" ก็เป็นแต่เพียงยักษ์ธรรมดาตนหนึ่งเท่านั้น มีหน้าที่เฝ้าสวนของทศกัณฐ์ ต่อมาก็ถูกพระรามฆ่าตาย มิได้มีฤทธิเดชอะไร ส่วนคำ "พิราธัง" หรือ "พิราธ" ได้ตรวจค้นในอภิฐานศัพท์ในภาษาสันสกฤตคำนี้ไม่มี มีแต่คำว่า "ราธ" แปลว่า ทำเสร็จ หรือ ทำลุล่วง หากเติม "วิ" อุปสรรคลงไป แปลง "วิ" เป็น "พิ" เป็น "พิราธ" ก็คงแปลว่า ทำสำเร็จโดยยิ่ง เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะออกเสียงเป็น พิราพ หรือ พิราธัง เราคงต้องถือว่า เป็นยักษ์ชั้นดี หรือยักษ์ชั้นสูง
๖.พวกสัตว์ เท่าที่พาดพิงอยู่บ้างเห็นจะเป็นจำพวกนก น่าจะได้แก่ ครุฑ คือสัตว์ในเทพนิยาย เนื่องจากมีเพลงประจำตัวอยู่เพลงหนึ่ง เรียกว่า "แผละ" บ้าง "แพละ" บ้าง หมายถึง แสดงอาการบินของนกเท่านั้น เมื่อพูดถึงเพลงประจำตัว ชวนให้นึกถึง เทพ หรือ ผี ทางดนตรี ที่มักจะมีเพลงประจำตัว แสดงถึง ศักดิ์และฐานะสูงต่ำแตกต่างกันไป เพลงที่ว่านี้มักจัดอยู่ในจำพวกเพลงหน้าพาทย์ พลอยทำให้ค่าของเพลงพลอยสูงต่ำไปด้วย จนกลายเป็นว่า เพลงมีความสำคัญยิ่งกว่าเจ้าของเพลง

หากตรวจดูที่มาที่ไป ก็มนุษย์นี่แหละเป็นผู้กำหนดกรอบตามที่มนุษย์ชอบหรือพอใจ เพียงโอนไปให้กับสิ่งอื่น จึงดูประหนึ่งว่า เพลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรดาเทพเหล่านี้ เป็นเพลงประจำตัวของบรรดาเทพเหล่านั้นไปเสียแล้ว ปัญหาสำคัญที่ต้องขบคิดว่า บรรดาเทพหรือผีต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาปนอยู่ในดนตรีไทยได้อย่างไร ใครมาเป็นแบบอย่างจนกระทั่งกลายมาเป็นความเชื่อที่เกาะกินใจอย่างแข็งแรงในหมู่นักดนตรีไทยจนถึงปัจจุบัน หากจะตอบถึงที่มาอย่างง่ายๆ คงไม่แคล้วไปที่อินเดีย เพราะหลักฐานปรากฏชัดว่าเป็น "ผี" อินเดีย สมมุติว่าให้อินเดียเป็นต้นแบบ แล้วจะมีอะไรเล่าที่คนอินเดียได้แสดง หรือได้ประกอบพิธีกรรมหรือมีพฤติกรรมอะไรก็ตามที่ทำให้คนดนตรีเกิดความซาบซึ้ง เกิดความเชื่อที่แฝงไปด้วยความเกรงกลัวและเคารพดังเช่นในปัจจุบัน เพราะการที่เกิดความซาบซึ้งในสิ่งใดอย่างแนบแน่นนั้น ย่อมผ่านประสบการณ์ที่ซ้ำซากมาเป็นเวลานาน หากเป็นการแสดง มีการแสดงอะไรเล่า เมื่อเราได้ชมได้เห็น เกิดความศรัทธาแล้วตามมาด้วยความเชื่อ แล้วนำมาปฏิบัติจนเป็นจารีตประเพณีในหมู่คนดนตรีไทยก็ยังมองไม่เห็นทาง หรือว่าจะมาทางพิธีกรรมของพราหมณ์หรือฮินดูก็ยิ่งมองไม่เห็นหนักเข้าไปอีก เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของพราหมณ์หรือฮินดูมักจะเป็นคนชั้นสูงหรือเจ้านาย คนสามัญก็เป็นแต่เพียงรับรู้ในปาฏิหารย์เพียงบางอย่างเท่านั้น หรือจะมีใครเป็นต้นคิดสร้างเรื่องขึ้นมาโดยอ้างเอาอินเดียมาเป็นต้นแบบ ผู้คนเห็นว่าเป็นของดีแล้วพากันปฏิบัติตามจนกลายเป็นจารีตประเพณีในหมู่คนไทย

เรื่องนี้หากมองลึกๆ ลงไปแล้วเห็นว่าน่าจะมาจากจีน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์คนจีนที่เข้าสู่ประเทศไทยมี ๒ กลุ่มใหญ่ๆ พวกที่เข้ามาทางบก ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสานหรือภาคกลาง ส่วนมากเป็นจีนแต้จิ๋ว พวกที่เข้ามาทางทะเลเลยไปถึงภาคใต้ มักเป็นพวกจีนฮกเกี้ยน อาจจะมีพวกไหหลำปนอยู่บ้าง คนไทยคุ้นเคยกับคนจีนมานานนักหนาแล้ว ถึงกับรับเอาอารยธรรมของเขามาใช้อยู่หลายอย่าง เช่น ภาษา ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงจารีตประเพณีของเขาบางอย่างมาใช้

บรรดาเราท่านทั้งหลายต่างก็ทราบกันเป็นอย่างดีว่า จีนเป็นชาติที่นับถือบรรพบุรุษ ที่จริงบรรพบุรุษก็คือ "ผี" นั่นเอง ที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องอยู่กับคนใกล้ชิดกันอย่างแน่นหนา จนมีคำกล่าวอยู่ในหมู่คนจีนว่า ผีกับคนอยู่ห่างกันแค่เพียงกระดาษแผ่นเดียว พิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีของคนจีนมีมากมาย แม้แต่ดวงจันทร์ เราก็จัดให้เป็นผีชนิดหนึ่ง ความเชื่อในเรื่องผีนี่แหละ คนจีนได้นำเข้าไปประสมประสานในศิลปะการแสดงบางอย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง "งิ้ว" ซึ่งเป็นมหาอุปรากรที่สำคัญอย่างหนึ่ง ไม่แตกต่างกับความยิ่งใหญ่กับการแสดงโขนของไทย ที่ได้รวบรวมศิลปะการแสดงและดนตรีเอาไว้อย่างครบถ้วน คำว่า "งิ้ว" คนจีนเขาออกเสียงได้หลายอย่าง เช่น อี่ หี่ ซี่ อี๋ อี้ หรือ อิว ไปตามความแตกต่าง การออกเสียงในภาษาท้องถิ่นของจีน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทย ปรากฏว่า การแสดงงิ้วได้แพร่หลายและเป็นที่นิยม คงทั้งในหมู่คนไทยและคนจีนมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ดังปรากฏในจดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาซารด์ ทูต พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘ (ค.ศ. ๑๖๘๕) กล่าวถึง ได้ชมการแสดงงิ้ว และมีความพอใจเป็นอันมาก แม้แต่ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศส ผู้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ยังชื่นชมต่อการแสดงงิ้วของจีน

นอกจากนี้ จากการบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวี สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี การแสดงงิ้ว ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายมาก การแสดงงิ้วของจีน ใช่ว่าจะมีแต่ศิลปะการแสดงเพียงอย่างเดียวก็หาไม่ แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ เแพาะอย่างยิ่งกระบวนการพิธีกรรมที่ลึกลับซับซ้อนอันเนื่องมาแต่ความเชื่อเข้ามาปนอยุ่กับการแสดง ดังนี้
๑. ความเชื่อในเรื่องเจ้า ที่จริง เจ้าก็คือ ผีหรือเทพนั่นเอง การนับถือเจ้าของการแสดงงิ้วถือว่าสำคัญมาก คณะงิ้วทุกคณะย่อมมีเจ้าประจำคณะทั้งสิ้น เจ้าตามความเชื่อของสังคมจีน มิได้เกิดจากการจินตนาการ แต่เกิดจากบุคคลที่เคยมีตัวตน ผู้เคยทำคุณงามความดีให้แก่สังคมมาก่อน เมื่อสิ้นชีพไปแล้ว ก็ได้กลายมาอยู่ในฐานะ "เจ้า" คือบรรพบุรุษนั่นเอง ความสำคัญของเจ้าย่อมแตกต่างกันไป เช่น หากเราสังเกต ทางด้านหลังโรงงิ้ว จะต้องมีศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ คนจีนเขาเรียกว่า "ฉั่งหง่วงส่วย" ที่จริงคำ ฉั่งหง่วงส่วย เป็นชื่อของคนธรรมดาผู้หนึ่ง เคยทำคุณงามความดีไว้มาก แต่ต่อมาได้ทำความผิดกฎมณเฑียรบาลด้วยความพลาดพลั้ง ฮ่องเต้จึงให้ประหาร แต่ประหารสกุลคือ "แซ่" ถือว่าเป็นโทษที่รุนแรงมาก เท่ากับว่าเป็นผู้รักษาสกุลไม่ได้ แต่คนทั่วไปยังคงให้ความเคารพเช่นเดิม ผู้เล่นงิ้วทุกคนถือว่าเป็นบรมครูของงิ้ว เรียกท่านด้วยความเคารพว่า "เหล่าเอี้ย" หมายถึง เจ้าปู่หรือผู้อาวุโสนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเจ้าอื่นๆ อีกเช่น กวนอู เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และมีความสามารถยอดเยี่ยมในเชิงยุทธ ยังมีเจ้า "ไท้จือ" หรือราชโอรสทั้งสาม ที่ชาวคณะงิ้วให้ความเคารพบูชามาก เรียกชื่อไปตามลำดับว่า "ตั่ว หยี่ ซา" โดยทำเป็นตุ๊กตา ๓ ตัว วางเรียงอยู่ในกล่องสีแดง แล้วนำไปติดกับฝาหีบบรรจุเครื่องแต่งตัวใบหนึ่ง ที่เรียกว่า หีบของเจ้าโดยเฉพาะ ที่จริง ราชโอรสทั้งสาม ก็คือ ราชโอรสของพระเจ้าถังไห่จงแห่งราชวงศ์ถัง ราชโอรสทั้งสามชอบดูงิ้วมาก วันหนึ่งขณะที่กำลังดูงิ้ว ราชโอรสองค์เล็กได้ตกลงมาตาย แสดงว่าที่ดูงิ้วต้องเป็นที่สูง ทำให้ราชโอรสที่เหลืออีก ๒ องค์เศร้าโศกเสียใจมากจนตรอมใจตายในไม่ช้า นอกจากนี้ยังมีเจ้าอื่นๆ อีกหลายองค์ เช่น เจ้าผู้ปราบผีที่เรียกว่า "เจงคุ้ย" หรือ เจ้าแห่งผู้ทำให้เกิดแสงสว่าง เช่น เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น
๒. จำพวกเครื่องเซ่น จะเน้นไปทางด้านขนมหวานและผลไม้ ไม่นิยมสัตว์ที่มีชีวิต พวกขนมหวานที่จำเป็นต้องมี ได้แก่ ขนมเปี๊ยะกลมใหญ่ (ตั่วหล่าเปี้ย) ขนมที่เป็นสิริมงคล ขนมบัวลอยอย่างจีน (ขนมอี๊) ขนม "หนึงทึ้ง" หรือ "เหม่งทึ้ง" เป็นขนมหวานอย่างหนึ่งของจีน มีลักษณะเป็นแป้งเหนียว ก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าคลุกด้วยงา รสหวาน นอกจากนี้มีผลไม้ เช่น ส้ม ชาและสุรา ส่วนสิ่งที่มีชีวิตที่นำมาใช้เป็นเครื่องเซ่น เห็นมีแต่ไก่เพียงอย่างเดียว แต่มิได้ฆ่า เพียงแต่นำมาเชือดหงอนเอาเลือดไปป้ายตามเสาโรงงิ้วแล้วปล่อยไป ใครจับได้นำไปเลี้ยงจะให้โชค เพราะเป็นไก่เจ้า
๓. เครื่องดนตรี ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่งงิ้วแต้จิ๋ว เขาแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ
๓.๑ กลุ่มฝ่ายบู๊ หรือฝ่ายกลอง (โก๋วคา) มีความสำคัญมาก ที่ใช้บอกสัญญาณ จังหวะ กำกับการเคลื่อนไหวของตัวแสดง การให้คิว การเปลี่ยนฉาก หรือการเข้าออกของตัวแสดง เป็นต้น นอกจากกลองแล้วยังมีพวกฆ้อง ฉาบ กรับจีน และเกราะ เครื่องดนตรีกลุ่มนี้วางอยู่ทางด้านซ้ายของผู้ชม
๓.๒ กลุ่มฝ่ายบุ๋น คือฝ่ายเครื่องสาย (อี้คา) ได้แก่ ปี่ ขิม ซอ ใช้ดำเนินทำนองหรือประกอบการขับร้อง วางอยู่ทางด้านขวาของผู้ชม
๔. เกียวกับบทเพลง บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงงิ้วมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ บทเพลงที่มีคำร้องและบทเพลงบรรเลงล้วนไม่มีคำร้อง เพลงที่มีคำร้องจะใช้สำหรับตัวงิ้วทั่วไปตามบท ส่วนเพลงที่ไม่มีคำร้องมีวิธีใช้อยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคล้ายกับเพลงหน้าพาทย์ของไทย เพื่อแสดงอารมณ์ต่างๆ ของตัวงิ้ว เช่น เพลง "เจียวกุงอ่วง" ใช้สำหรับอารมณ์เศร้า หรือ ระบายความอัดอั้นตันใจ เพลง "หลั่งเถ่าซา" ใช้สำหรับการเดินอย่างช้าๆ อย่างใช้ความคิด อีกอย่างหนึ่งคล้ายเป็นเพลงประจำตัวเจ้า เช่น เพลง "บุ่งเตี๋ยมกัง" ใช้เมื่อออกชุด "โป๊ยเซียน" (เทวดาทั้ง ๘) หรือเพลง "เซียงกอ" ใช้ในขณะรับเจ้าจากโรงงิ้ว เป็นต้น การที่ได้นำเอาเรื่องงิ้วจีนมากล่าวนี้ ก็เนื่องจากดังที่ได้ตั้งปัญหาไว้แต่ตอนแรกที่ชวนให้ขบคิดว่า คติการนับถือเทพหรือผีในดนตรีไทยเราได้ความคิดมาจากใคร ระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งดูแต่เพียงผิวเผินก็น่าจะมาทางสายอินเดีย เพราะด้านศาสนาไม่ว่าจะเป็นฮินดูหรือพราหมณ์ จะมีเทพหรือผีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น แต่ถ้ามองให้ลึกน่าจะมาทางสายจีนมากกว่า เพราะถ้าเรามองในด้านประสบการณ์ เรามีโอกาสได้สัมผัสกับจีนมากกว่าอินเดีย หรือหากสังเกตกระบวนการ การจัดทำในพิธีกรรมทั้งไทยและจีนก็สอดคล้องกันมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดนตรี เครื่องเซ่นสรวงบูชา หรือบทบาทของเทพหรือเจ้าก็มีจุดประสงค์คล้ายกันคือ ทำหน้าที่เป็นครูชนิดหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แต่ทำไมจึงต้องกลายเป็นผีแขกไปเล่า ก็เพราะเราเลื่อมใสศรัทธาแขกมากกว่าจีน มิหนำซ้ำเรายังเคยเหยียดหยามดูถูกจีนด้วยซ้ำไป จนเกิดมีคำแปลกๆ เช่น ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊กบ้าง เจ๊กตื่นไฟบ้าง ขากถุยอย่างกับเจ๊กบ้าง จึงคิดเปลี่ยนให้มาเป็นแขก การคิดทำอะไรให้เป็นแขกๆ รู้สึกว่านอกจากจะขลังแล้วยังโก้อีกด้วย ทำอย่างจีนมัน "เชย" ฉะนั้น ด้านพิธีกรรมเราเก็บเอาไว้อย่างจีน เพียงแต่เปลี่ยนบรรดาเทพหรือผีแขกให้เป็นเจ้าจีน สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังทรงประทานความเห็นว่าเพลงพญาเดินหรือพระยาเดินนั้นเป็นทำนองเพลงจีน คิดไปคิดมา พระพิราพอาจมาจากกวนอูก็เป็นได้

ที่มา:
http://kunchonkasam.multiply.com/journal/item/3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม